ทันโลกข่าวต่างประเทศ.jpg3

ครบรอบ 25 ปีฮ่องกงกลับคืนสู่จีน สี จิ้นผิง ย้ำยังคงยืนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

Highlight ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนเมื่อ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ประกาศว่าไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองฮ่องกงภายใต้รูปแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เพราะเป็นระบบที่ดี และควรต้องรักษาเอาไว้ตราบนานเท่านาน รัฐบาลจีนจะให้เสรีภาพและความเป็นอิสระแก่ฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี อย่างน้อยจนถึงปี 2047 ตามที่สัญญาไว้กับสหราชอาณาจักร ..ย้อนรำลึกฮ่องกงในอดีต มีความเป็นมาอย่างไร

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีที่ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีน (1 ก.ค.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ปราศรัยว่า การธำรงไว้ซึ่งหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น

การปรากฏตัวของ สี จิ้นผิง ที่ประเทศฮ่องกง เมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 2 ปีได้รับความสนใจไม่น้อย และแสดงให้เห็นความสำคัญของการแสดงบทบาทอธิปไตยของจีนเหนือดินแดนฮ่องกง รัฐบาลสหราชอาณาจักรส่งคืนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแก่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1997 ภายใต้สัญญาว่า รัฐบาลจีนจะให้เสรีภาพและความเป็นอิสระแก่ฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี ภายใต้การปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

แต่คำกล่าวของสี จิ้นผิง ในวันที่ 1 ก.ค. ส่งสัญญาณว่า แนวทางการปกครองตามหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน รวมถึงหลังถึงเส้นตายคำสัญญาที่จีนให้ไว้กับสหราชอาณาจักรในปี 2047

แม้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จีนมีพันธะว่าต้องมอบเสรีภาพและอิสระในการปกครองฮ่องกง ทว่าผ่านมาครึ่งทาง หรือ 25 ปี รัฐบาลปักกิ่งกลับเพิ่มอำนาจการควบคุมเหนือเกาะฮ่องกงมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020

ประธานาธิบดีสีได้เป็นประธานในพิธีสาบานตนของจอห์น ลี ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงคนใหม่ เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา  นายลี ซึ่งมาจากการคัดสรรผ่านคณะกรรมการที่ส่วนใหญ่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่

จีนไม่ทำตามคำมั่นสัญญา

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ โจมตีจีนว่าล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ โดยกล่าวว่า จีนทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความมั่นคงและมั่งคั่งของฮ่องกง เช่นเดียวกับการรักษา “ผลประโยชน์ขั้นพื้นฐาน” ของจีนในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา “หนึ่งประเทศ สองระบบ ผ่านการทดสอบและพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงระบบที่ดีเช่นนี้” นายสี จิ้นผิง กล่าว

การเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของผู้นำจีนครั้งนี้ ยังถือเป็นการเดินทางออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งแรกในรอบ 2 ปีของประธานาธิบดีสี นับจากมีการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2020 และยังเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสูงสุดของจีนเยือนฮ่องกง ตั้งแต่เกิดเหตุปราบปรามการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อปี 2019 ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวด

ทุกวันที่ 1 ก.ค. นอกจากชาวฮ่องกงจะร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองอันหลากหลาย บางส่วนมักเข้าร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงออกทางการเมือง

ทั้งนี้ นับแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2020 ทางการฮ่องกงได้สกัดกั้นการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีและการประท้วงมาโดยตลอด รวมถึงการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่าง แกนนำประท้วง ซึ่งบางส่วนก็ลี้ภัยออกจากฮ่องกงไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาจีนรายงานว่า การเดินทางเยือนฮ่องกงครั้งแรกในรอบ 5 ปี ของนายสี จิ้นผิง และในวาระครบ 25 ปีที่ฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมกอดจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ทั่วทั้งเกาะฮ่องกงเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ และ “ตำรวจพิเศษ” ที่เกณฑ์มาจากผู้คุมเรือนจำ และกองกำลังตรวจคนเข้าเมือง

ฟื้นจากกองเถ้าถ่าน

การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนที่ฮ่องกงในช่วงต้นปีนี้ และปัจจุบันที่สถานการณ์ยังน่าวิตก โดยยังมีรายงานผู้ติดเชื้อ 2,000 คน/วัน ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประธานาธิบดีสี ผู้ยึดมั่นในนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน และเก็บตัวอยู่ภายในประเทศมายาวนานกว่า 2 ปี จะยกเลิกการเดินทางเยือนฮ่องกงหรือไม่ แต่ในที่สุด ผู้นำจีนก็เดินทางถึงฮ่องกงเมื่อ 30 มิ.ย. ด้วยรถไฟความเร็วสูง

ประธานาธิบดีสีกล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ ตอนหนึ่งว่าฮ่องกง “ฟื้นจากกองเถ้าถ่าน” หลังผ่านความท้าทายหลายอย่าง อย่างไรก็ดี แม้แผนการเดินทางของผู้นำจีนไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่มีรายงานว่านายสีได้ข้ามพรมแดนกลับไปพักค้างคืนที่เมืองเซินเจิ้นของจีนในวันที่ 30 มิ.ย. ก่อนข้ามกลับมายังฮ่องกงในวันที่ 1 ก.ค.

ปธน.สี ชื่นชมฮ่องกงรุดหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ประธานาธิบดีสี กล่าวในระหว่างการเยือนฮ่องกงว่า ฮ่องกงสามารถใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อสร้างความสำเร็จในการวิจัยขั้นพื้นฐาน การบ่มเพาะผู้มีความสามารถ และการพัฒนาในภาคนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปธน.สีได้กล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกงเมื่อวานนี้ พร้อมด้วยนางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง หัวหน้าผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR) นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการจากฮ่องกงจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน (CAE) รวมทั้งบรรดานักวิจัยและผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างเป็นกันเอง

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในระหว่างการพูดคุยกับนักวิชาการ นักวิจัย และตัวแทนเยาวชนของวิสาหกิจนวัตกรรม ปธน.สี เรียกร้องให้ฮ่องกงร่วมมือกับบรรดามณฑลบนแผ่นดินใหญ่ทั้งในบริเวณอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย และสถาบันการวิจัย และมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ชั้นนำระดับโลกสำหรับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาและการบ่มเพาะธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงมีสถานประกอบการมากกว่า 1,100 แห่ง และนักประดิษฐ์กว่า 17,000 คน

ย้อนอดีต ฮ่องกง

“ฮ่องกง” เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านประมงเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอซินอัน เมืองเซินเจิ้นภูมิประเทศเป็นเมืองท่าน้ำลึก เหมาะแก่การจอดเรือสินค้าขนาดใหญ่ จึงทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก

จนราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีเรือของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร แล่นผ่านน่านน้ำระหว่าง แหลมเกาลูนและเกาะแห่งหนึ่งที่ร่ำลือกันว่าเป็นที่หลบลมพายุของพวกโจรสลัด จึงเกิดความประทับใจกับความว่าเป็นท่าเรือหอม ที่ใช้ขนถ่ายไม้หอม

ที่สุดประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งปกครองโดยพระนางวิกตอเรีย กำลังต้องการอาณานิคมในแถบทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นที่จัดส่งสินค้า หรือฝิ่นพอดี และประจวบเหมาะพอดีกับที่ฝ่ายสหราชอาณาจักร และจีนกำลังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่นในแถบกวางตุ้งของจีน จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี ค.ศ. 1839

อังกฤษจึงเข้ายึดดินแดนแถบฮ่องกงเป็นของสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2384 จนเมื่อจีนแพ้สงครามฝิ่น ปลายศตวรรษที่ 19 เกาะฮ่องกง และดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูน จึงตกเป็นอาณานิคมในปี พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ตามลำดับ แต่จีนและสหราชอาณาจักร ก็ยังกระทบกระทั่งกันเรื่องการค้าฝิ่นเรื่อยมา เกิดสงครามฝิ่นถึงสองครั้ง ซึ่งหลังสงครามฝิ่นครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรได้บีบบังคับให้จีนทำสัญญาในปี พ.ศ. 2441‘เช่าซื้อ’ พื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเซินเจิ้น ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘เขตดินแดนใหม่’ (เขตนิวเทร์ริทอรีส์) รวมทั้งเกาะรอบข้าง ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่าเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรเข้ายึดครองในสมัยสงครามฝิ่นเกือบสิบเท่า

ทันโลกข่าวต่างประเทศ.jpg3

ผู้สำเร็จราชการคนแรกที่มาประจำยังเกาะฮ่องกง ท่านลอร์ด Palmerston เคยขนานนามเกาะแห่งนี้ไว้ว่า “หินไร้ค่า” แต่สหราชอาณาจักรได้ช่วยวางรากฐานการศึกษา การปกครอง และผังเมืองให้ฮ่องกงเป็นอย่างดี เพียงชั่วพริบตาเดียว ฮ่องกงได้กลับกลายเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และยังเป็นประตูเปิดสู่ประเทศจีน

สหราชอาณาจักรเช่าฮ่องกงทั้งหมด เป็นเวลา 99 ปี โดยกำหนดวันหมดสัญญาไว้วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยได้ทำพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกง ให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ไปเรียบร้อย

ก่อนนี้เคยมีการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรโดย นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำฝ่ายจีน เพื่อเจรจาขอเช่าเกาะฮ่องกงต่อ แต่ได้รับการปฏิเสธ

และในปีเดียวกันนั้น วันที่ 26 กันยายน ผู้นำทั้งสองจึงเปิดเจรจาอีกครั้งและลงนามในสัญญา โดยมีสาระสำคัญว่า สหราชอาณาจักรจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน และจีนได้ให้สัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกง อยู่ในฐานะ “เขตปกครองตนเอง” ภายใน 50 ปี นั่นเอง

ดังนั้น ชาวฮ่องกงจึงเหมือนลูกเลี้ยงที่รักพ่อแม่บุญธรรมยิ่งกว่าพ่อแม่แท้ๆ มีบุคลิกพฤติกรรมที่ซึมซับมาจากผู้ดูแลใกล้ชิดมากกว่า และแม้ว่าโลกไม่ตอบรับการล่าอาณานิคมโบราณอีกต่อไป จึงมีการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษว่าถึงเวลาแล้วที่อังกฤษจะต้องคืนฮ่องกงกลับจีน

และทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงว่าอังกฤษจะคืนอธิปไตยฮ่องกงให้แก่จีนในปี 2540 ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ 2 ระบอบ”  คือฮ่องกงจะยังคงพัฒนาภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ต่อไป โดยมีสิทธิอิสระในการปกครองตนเองอีก 50 ปี (ราวปี 2590 บวกลบ)

แต่จีนจะเข้าควบคุม 2 ด้าน คือ “การต่างประเทศ” และ “กลาโหม” ขณะที่ผู้ว่าฯ ฮ่องกง และสภาที่ปกครองฮ่องกง จะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน

ฟังแล้วเหมือนจะดูดี เพราะคนฮ่องกงเองก็ไม่ได้จะเป็นจะตายกับการกลับคืนสู่จีนในสถานะ “เขตปกครองพิเศษ” มากนัก ถ้าข้อตกลงยังดังเดิม และอีกตั้งหลายปีกว่าที่พวกเขาจะเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์

กระทั่งช่วงกันยายน 2557 เมื่อชาวโลกได้รู้ว่าฮ่องกงมี “ปฏิวัติร่ม” เพื่อต่อต้านที่ทางการจีนได้ผลักดัน “หลักการปฏิรูปการบริหารเกาะฮ่องกง” ที่พวกเขารู้สึกว่าถูกกระชากสิทธิเสียงไปจากมือ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  มีการประท้วงทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ทั้งแกนนำนักศึกษาและและประชาชนบางกลุ่มเพื่อแสดงออก “ไม่ต้องการการครอบงำจากจีน” แต่สถานการณ์ปัจจุบัน หรือนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 อุณหภูมิที่ร้อนแรงทางการเมืองผ่อนคลายลง

คนฮ่องกงไม่อยากเป็นจีน อยากเป็นอังกฤษ หรืออยากเป็นฮ่องกงแบบนั้นตลอดไป ต้องติดตามกันต่อไป เพราะจีนเองก็คงไม่ยอมให้เหมือนกัน อีก 25 ปีข้างหน้า อาจมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย และจีนคงไม่ปล่อยปัญหาทิ้งไว้ และคงมีวิธีแก้ไข เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หรือรวมเป็นหนึ่งเดียว